นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (23 มกราคม 2567) มีมติเห็นชอบ การประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจเพื่อจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศอย่างครอบคลุมว่าด้วยการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรม

 

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้ การประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจเพื่อจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศอย่างครอบคลุมว่าด้วยการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรม คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบกรอบการเจรจาร่างอนุสัญญาระหว่างประเทศอย่างครอบคลุมว่าด้วยการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรม (อนุสัญญาฯ) 2. เห็นชอบให้คณะผู้แทนไทยร่วมเจรจาร่างอนุสัญญาฯ โดยใช้กรอบการเจรจาร่างอนุสัญญาฯ ในการกำหนดท่าทีในการเจรจาร่างอนุสัญญาฯ โดยหากมีความจำเป็นและมีการปรับแก้ร่างอนุสัญญาฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของคนไทย ขอให้คณะผู้แทนไทยใช้ดุลยพินิจในการร่วมการเจรจาร่างอนุสัญญาฯ ได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก ทั้งนี้ โดยคำนึงว่าไทยสามารถเลือกเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาที่กำลังมีการจัดทำดังกล่าวได้เมื่อมีความพร้อม (การเจรจาร่างอนุสัญญาฯ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ 2567 ณ นครนิยอร์ก สหรัฐอเมริกา) เรื่องเดิม คณะรัฐมนตรีมีมติ (11 มกราคม 2565) อนุมัติให้คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจเพื่อจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศอย่างครอบคลุมว่าด้วยการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรม (คณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจฯ) ประกอบด้วย กต. สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ (United Nations: UN) ณ นครนิวยอร์ก หรือเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ประจำ UN ณ กรุงเวียนนาเป็นหัวหน้าคณะ ขึ้นอยู่กับสถานที่ของการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจฯ โดยไม่ต้องมีการเสนอองค์ประกอบคณะผู้แทนของฝ่ายไทยให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นรายกรณี ทั้งนี้ ให้ผู้แทนของสำนักงานคณะกรมการกฤษฎีกา (สคก.) เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ด้วย สาระสำคัญ กต.รายงานว่า 1. การประชุมสมัชชา UN สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 (UNGA74) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ได้รับรองข้อมติ UNGA ที่ 74/247 เรื่อง “Countering the use of information and communications technologies for criminal purposes” ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจฯ เพื่อให้มีการเริ่มหารือเกี่ยวกับการจัดทำอนุสัญญาฯ ในกรอบ UN โดยอนุสัญญาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรม ซึ่งเป็นภัยคุกคามข้ามชาติและเป็นประเด็นความมั่นคงในรูปแบบใหม่ที่สร้างความเสียหายต่อรัฐ เอกชนและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน 2. การประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจฯ ได้จัดการประชุมมาแล้ว 6 สมัย1 [การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นสมัยสุดท้าย (Concluding Session)] โดยที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและมีท่าทีที่แตกต่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการเจรจาเพื่อพยายามหาฉันทามติในบางประเด็น เช่น 1) ประเด็นขอบเขตของอนุสัญญาฯ ด้านฐานความผิดทางอาญา โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำระหว่าง (1) อาชญากรรมไซเบอร์ (cybercrime) กับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรม (use of information and communications technologies for criminal purposes) และ (2) อาชญากรรมที่ต้องพึ่งพาระบบไซเบอร์และระบบคอมพิวเตอร์ (cyber-dependent crimes)2 กับอาชญากรรมดั้งเดิม ที่กระทำผ่านระบบไซเบอร์และระบบคอมพิวเตอร์ (cyber-enabled crimes)3 2) ประเด็นถ้อยคำและคำนิยาม โดยเฉพาะการใช้ถ้อยคำ (1) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ (computer data) กับข้อมูลดิจิทัล(digital information) (2) ระบบคอมพิวเตอร์ (computer system) กับอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (information and communications technology device) 3. กต. ได้มีการจัดประชุมหารือเพื่อเตรียมท่าทีไทย สำหรับการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐเฉพาะกิจฯ1 กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อส. ตช. สมช. สกมช. ยธ. และ ดศ. ซึ่งหน่วยงานส่วนใหญ่เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการมีอนุสัญญาระหว่างประเทศภายใต้กรอบ UN ความจำเป็นในการปรับปรุง และพัฒนากฎหมายภายใน รวมถึงการดำเนินการอื่น ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่จากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรมที่สามารถส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย ตลอดจนประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างประเทศและการเสริมสร้างขีดความสามารถในเรื่องดังกล่าว กต. จึงได้จัดทำกรอบการเจรจาร่างอนุสัญญาฯ โดย ร่างอนุสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและผลักดันประเด็นและแนวทางที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศไทย ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรม ซึ่งเป็นภัยคุกคามข้ามชาติ โดยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางกฎหมาย การสืบสวนสอบสวนร่วมกัน มาตรการป้องกัน และความช่วยเหลือทางวิชาการ เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อวัตถุประสงค์ทางอาชญากรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : ปชส.ภูเก็ต

เรียบเรียง : นางโสภิตร แก้วบุญชู


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar